วิธีเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ 

จากข่าวแชร์ลูกโซ่ Forex 3D หรือ ฟอเร็กซ์ ทรีดี ที่มีนาย อภิรักษ์ โกฎธิ ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อล่อลวงให้คนร่วมระดมทุน โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายก็มีผู้เสียหายจำนวนมาก จนเกิดการฟ้องร้อง แต่ข่าวคดี Forex 3D ได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องมาจากการจับกุม นักแสดงหรือดาราสาว ผู้มากความสามารถ และอยู่ในวงการบันเทิงมายาวนานท่านหนึ่ง โดยทางกรมสวบสวนคดีพิเศษแจ้งว่ามีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่าดาราสาวและครอบครัว มีความเกี่ยวพันกับคดี แชร์ลูกโซ่ ที่มีนายอภิรักษ์ เป็นผู้ต้องหาก่อนหน้านี้ไปแล้ว และอาจมีนักแสดง และผู้มีชื่อเสียงอีกหลายราย ที่อาจต้องโดนคดีนี้ด้วยเช่นกัน 

ก่อนหน้านี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เคยได้ออกมาเตือนประชาชน เรื่องการถูกลวงให้หลงเชื่อ ร่วมลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ที่มีการโฆษณาเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะนอกจากจะเป็นการหลอกลวง ที่จะทำให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินแล้ว ยังผิดกฏหมายอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายรองรับในการระดมเงินทุนซื้อ – ขาย และ แลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ ดังนั้น อย่าได้หลงเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือในนามนิติบุคคล ก็ตาม ที่กล่าวอ้างว่าได้ใบอนุญาตจาก ธปท. ในการรับฝากเทรด หรือทำตัวเป็นโบรกเกอร์ ระหว่างการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ เรามีวิธีดูรูปแบบของลักษณะการแชร์ลูกโซ่มาฝาก จะได้รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อให้กับกลโกงค่ะ 

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกลวงคนด้วยการขายฝันว่าจะได้ผลตอบแทนสูง เพื่อให้นำเงินมาเข้ากองทุน อาจเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อการเก็งกำไร หรือเข้าร่วมหุ้นลงทุน โดยมุ่งเน้นผลตอบแทนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์จากการหาสมาชิกมาเป็นเครือข่าย ยาวเป็นทอด ๆ ต่อกันยาวเหมือนสายโซ่ 

รูปแบบการแชร์ลูกโซ่ มีหลากหลายแบบด้วยกัน โดยส่วนใหญ่ที่มักจะพบเห็นทั่วไป 

  • สินค้าเกษตร ชักชวนให้ลงทุนในสินค้า เพื่อเข้ากองทุน โดยมีผลตอบแทนสูงเป็นสิ่งจูงใจ 
  • กองทุนทองคำ น้ำมันดิบ เพื่อเก็งกำไร โดยการันตีผลตอบแทนทุกเดือน และจะได้มากกว่าท้องตลาดทั่วไปในทุกเดือน 
  • กองทุนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และจำหน่ายในราคาสูง 
  • กองทุนทริปเที่ยวในฝัน ธุรกิจเครือข่ายท่องเที่ยว ที่มักจะนำแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูกมาเป็นตัวล่อ เพื่อให้คนสมัครสมาชิกรายเดือน หรือสมาชิกรายปี  จะได้ซื้อแพ็กเกจเที่ยวได้ในราคาถูก 
  • กองทุนเก็งกำไรอัตราเงินแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ได้ผลตอบแทนจำนวนมาก (แต่ผิดกฏหมาย) 
  • กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ หลอกให้สมัครสมาชิก จ่ายค่าสมัคร และจ่ายสมทบกองทุนทุกเดือน เพื่อผลตอบแทนสูงเมื่อครบสัญญา (แต่สุดท้ายมักจะโดนเชิดเงินหนี)  
  • ระบบฝากเงินที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กร ให้ผลตอบแทนสูง จ่ายผลตอบแทนเร็ว 

สัญญาณเตือนแชร์ลูกโซ่ 

  • การันตีผลตอบแทนสูง ธุรกิจหรือการลงทุนที่จ่ายค่าตอบแทนในอัตราสูง ให้กับผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ที่จ่ายค่าสมัครสมาชิก รวมไปถึงการลงทุนในเวลาระยะเวลาสั้นแต่ได้ผลตอบแทนเร็ว โดยโฆษณาว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ หรือความเสี่ยงต่ำมาก แต่ได้ผลตอบแทนสูง 
  • ลงทุนครั้งเดียวแต่ได้ผลตอบแทนยาว เมื่อจ่ายค่าสมัครสมาชิก หรือจ่ายเงินเพื่อร่วมลงทุนในครั้งแรกครั้งเดียว แล้วจะได้รับผลตอบแทนเมื่อถึงวันครบกำหนด โดยจะมุ่งเน้นการหาสมาชิกเพิ่ม เพื่อนำเงินค่าสมัครนั้นมาหมุนเวียนเป็นค่าตอบแทนให้กับสมาชิกคนเก่า 
  • สร้างภาพหรือจัดฉากจัดงานในที่หรูหรา มักจะมีการจัดสัมมนา หรือประชุมในสถานที่หรูหรา มักจะมีภาพบุคคลผู้มีชื่อเสียง นักแสดง ดารา ศิลปิน หรือผู้ที่มีฐานะร่ำรวย มาแสดงเพื่อโฆษณาเชิญชวน 
  • ที่มาของกำไรหรือผลตอบแทนไม่ชัดเจน กลุ่มแขร์ลูกโซ่ มักจะใช้ศัพท์ทางการเงินยาก ๆ อวดอ้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางการเงินในการสร้างผลตอบแทน ชักชวนให้ลงทุนกับสิ่งเทคนิคทางนวัตกรรมที่ดูซับซ้อน 
  • มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ อวดอ้างในการนำเงินไปร่วมบงทุนในต่างประเทศ หรือเกี่ยวข้องกับเงินต่างประเทศ โดยให้ผลตอบแทนสูง และมีความมั่นคง โดยไม่สามารถระบุแหล่งลงทุนได้ชัดเจน เป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่ไม่รู้จัก หรือดูไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีใบอนุญาต 
  • ถูกคนใกล้ชิดชักชวน หากมีคนใกล้ชิดชักชวน โดยการอวดอ้างสรรพคุณ และเชียร์อย่างออกนอกหน้า เร่งรัดให้รีบตัดสินใจ โดยไม่ให้เวลาไปพิจารณา หรือแม้แต่ปรึกษาใคร โดยอ้างว่ามีเวลาหรือรับจำนวนจำกัด รวมไปถึงการเสนอค่านายหน้าให้ หากสามารถชวนคนมาร่วมลงทุนเพิ่ม 
  • ไม่มีข้อมูลงบการเงินให้ตรวจสอบ หรือไม่สามารถแจ้งงบการเงินแก่สมาชิกได้ ทำให้ไม่รู้แหล่งงบประมาณที่ชัดเจน ผู้ร่วมลงทุนตรวจสอบหรือขอดูไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่านำเงินทุนจากสมาชิกไปใช้ในเรื่องใด 

วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ 

คาดว่าทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ เริ่มรู้แนวทางของแชร์ลูกโซ่กันไปแล้ว เรายังมีวิธีการป้องกันกลโกง ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเคยได้ออกมาเตือนไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

  • ควรตรวจสอบด้วยตนเอง ว่ากิจการที่จะลงทุนมีสถานประกอบการจริงหรือไม่ ตรงกับที่จดทะเบียนหรือไม่ 
  • ไม่ควรเห็นแก่ผลตอบแทนที่มีมูลค่าสูง ไม่ว่าผลตอบแทนนั้นจะมาในรูปแบบของเงิน หรือของรางวัล ที่นำมาล่อให้ติดกับ 
  • ควรศีกษาที่มาที่ไปของการลงทุน ว่ากิจการลงทุนดำเนินในธุรกิจอะไร ต้องสามารถตรวจสอบได้ทั้ง ที่มาที่ไปของธุรกิจ ผลตอบแทน ดำเนินการอย่างถูกกฏหมายหรือไม่ ข้อมูลจะต้องชัดเจน และสามารถเปิดเผยกับผู้ร่วมลงทุนได้ 
  • อย่าเชื่อใจใคร หรือเกรงใจจนไม่กล้าปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิท หรือมิตรสหาย คนใกล้ชิดมากแค่ไหนก็ตาม เพราะพวกเขาก็อาจถูกหลอกมาเช่นกัน และควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกลุ่มหรือกิจกรรมของกลุ่มที่ไม่น่าไว้ใจ เช่น ถูกชักชวนไปร่วมสัมมนา ประชุม หรือกิจกรรมต่างๆ ที่รู้สึกไม่แน่ใจ หรือสร้างความอึดอัดใจ ที่อาจมีอะไรแอบแฝงมาแบบเนียนๆ จนอาจทำให้เราเผลอและพลาดท่าได้ 
  • หากจำเป็นต้องไปร่วมกิจกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ แล้วมีการขอข้อมูล หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัว พยายาเลี่ยงและอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆ รวมไปถึงการสแกน QR Code ต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด หรือแม้แต่การขโมยข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม 

ทำอย่างไร เมื่อโดนหลอกแชร์ลูกโซ่

หากเผลอโดนกลุ่มแชร์ลูกโซ่หลอกไปแล้ว หรือรู้ตัวว่ากำลังจะโดนหลอก มีคำแนะนำจาก DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินการดังนี้ 

  • เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ ทั้งรูปถ่าย หนังสือสัญญา หลักฐานการโอนเงิน เบอร์โทรศัพท์ ที่ตั้งของที่ทำการกลุ่มแชร์ลูกโซ่ หลักฐานการติดต่อในทุกช่องทาง
  • แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี โดยสามารถแจ้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ โทร 1202 และอีกช่องทางคือแอปพลิเคชั่นบนมือถือของดีเอสไอ ที่ใช้ชื่อว่า DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) 

แชร์ลูกโซ่ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่เรื่อย ทำให้คนสามารถหลงโดนหลอกได้ จึงต้องคอยหมั่นติดตามข่าวสาร และสถานการณ์ เพื่อให้รู้เท่าทัน และมีสติอยู่เสมอก่อนจะลงทุนหรือกิจกรรมใดๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อให้กับขบวนการกลโกง