8 พฤติกรรมเสี่ยง ที่ทำให้โทรศัพท์โดนแฮกข้อมูล 

จากการจารกรรมทางออนไลน์ระบาดมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผู้เดือดร้อนเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมและได้ผล ทำให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการสมาร์ทโฟนให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่รู้ไหมว่า การโจรกรรมข้อมูลในมือถือส่วนใหญ่มีความเกี่ยวเนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยงที่มาจากผู้ใช้สมาร์ทโฟนเองเช่นกัน เรามาเช็กกันหน่อยว่าพฤติกรรมใดบ้าง และจะป้องกันอย่างไรเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้สมาร์ทโฟน 

1. ไม่ได้ตั้งรหัสผ่านบนสมาร์ทโฟนเลย 

สำหรับคนที่ใช้สมาร์ทโฟนแล้วไม่มีการตั้งรหัสผ่านล็อคเครื่องไว้ หากมือถือหล่นหาย หรือถูกขโมยไปอยู่ในมือคนอื่น มีโอกาสสูงมากที่คนอื่นสามารถรู้ข้อมูลบนสมาร์ทโฟนของคุณ ไมว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร รายชื่อผู้ติดต่อ หรือแชทการสนทนาต่าง ๆ ดังนั้น การตั้งรหัสล็อคเครื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรทำเป็นสิ่งแรกเสมอเมื่อมีการเปิดมือถือเครื่องใหม่ รวมไปถึงการสร้าง pincode ในแต่ละแอปพลิเคชันที่คุณใช้บนสมาร์ทโฟน เช่น Line , facebook , googledrive , skype , onedrive แอปหาคู่  เป็นต้น 

2. ใช้รหัสผ่านเดียวกันทุกแอคเคาท์ 

หลายคนที่มักจะตั้งรหัสผ่านเดียวกันหมดทุกแอคเคาท์ ไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร หรือ แอปพลิเคชัน เพราะสะดวกต่อการจดจำ แต่รู้ไหมว่าการทำเช่นนั้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเหล่ามิจฉาชีพด้วยเช่นกัน เพราะหากแฮกเกอร์สามารถเจาะเข้าระบบสมาร์ทโฟนคุณได้สำเร็จ และนำรหัสไปลองกับทุกบัญชีที่คุณมีในเครื่อง ก็จะเข้าถึงและสวมรอยได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้ารหัสเดียวกับทุกบริการ e-banking คุณก็จะโดนขโมยเงินทางออนไลน์ไปในพริบตา ด้วยเหตุนี้ คุณควรตั้งรหัสแต่ละบัญชีให้แตกต่างกัน อาจสร้างความยุ่งยากในการจำรหัสแต่ละบัญชีสักหน่อย ยิ่งใครมีแอคเคาท์มากเท่าไร ก็อาจยิ่งวุ่นวายมากขึ้น แต่มันปลอดภัยกว่าการตั้งรหัสเดียวกันกับทุกบัญชีแน่นอน 

3.คลิกลิงก์โดยไม่ตรวจสอบ

เมื่อเข้าไปอ่านข่าวสาร หาข้อมูลตามหน้าเพจหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงการที่เพื่อน ๆ แชร์เพจข่าวบนแอป เช่น เพจบนเฟสบุค หรือข่าวในไลน์ ซึ่งมักจะเป็นหัวข้อข่าวพร้อมกับภาพที่ไม่น่าจะโพสบนสื่อได้ตามจรรยาบรรณ เช่น ภาพรุนแรง ภาพโป๊เปลือย หากเป็นการนำเสนอในลักษณะนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพจสร้างเรื่องข่าวปลอม หรือ fake news และมักจะมีพวกโฆษณาต่าง ๆ มาด้วย เมื่อไปกดลิงค์เหล่านั้นเพื่ออ่านบทความ อาจเสี่ยงต่อการติดไวรัส ช่วยกระจายเว็บปลอมให้กับทุกคนที่อยู่ในรายชื่อติดต่อของคุณโดยไม่รู้ตัว หรือสมาร์ทโฟนติดมัลแวร์ และถูกขโมยข้อมูลได้ เช่น การเข้าถึง cookie รายชื่อเพื่อน ภาพ วิดีโอ ข้อมูลการแชท และบัญชีธนาคารออนไลน์ โดยมีมิจฉาชีพควบคุมสมาร์ทโฟนของคุณแบบทางไกลได้สบาย ๆ ดังนั้น ก่อนคลิกลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะลิงก์โฆษณา หรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้ใจ ควรทำการตรวจสอบแหล่งที่มาเสียก่อน มาจากเว็บไซต์เจ้าของเพจตัวจริงหรือใครส่งมา เพื่อความปลอดภัย หากเป็นเพื่อนของคุณส่งลิงก์นั้นมา ให้ถามเจ้าตัวเสียก่อนว่าได้ส่งอะไรมาหรือไม่ ก่อนที่จะทำการกดลิงก์เข้าไปอ่านบทนั้น รวมไปถึงการสแกน QR Code ที่เสี่ยงต่อการโดนแฮกเกอร์ดูดเงินเช่นกัน 

4. เชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรี 

การเชื่อมต่อ Wi-Fi ฟรี โดยเฉพาะ Wi-Fi สาธารณะ ยิ่งไม่มีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงมาก ๆ ต่อการโดนแฮกเกอร์ดักขโมยข้อมูล ยิ่งถ้าคุณเผลอไปเชื่อมต่อกับ Hotspot หรือ SSID ของมิจฉาชีพที่สร้างขึ้นมา ยิ่งทำให้โทรศัพท์โดนแฮกข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้น วิธีป้องกันโทรศัพท์โดนแฮก คือ เชื่อมต่อเน็ตระบบ 3G , 4G หรือ 5G ที่เป็นอินเทอร์เน็ตในระบบเครือข่าย แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ Wi-Fi ควรเชื่อมต่อ Wi-Fi ด้วย VPN ที่มีความปลอดภัยมากกว่า  

5. แชร์หรือโพสเรื่องส่วนตัวบนโลกโซเซียล 

หลายครั้งที่การโดนโจรกรรม หรือข้อมูลส่วนตัวโดนขโมย จากการที่เจ้าตัวเปิดเผยเรื่องส่วนตัวในที่สาธารณะอย่างการโพสบนโลกออนไลน์ ทั้งการเล่าเรื่องส่วนตัว กิจกรรมต่าง ๆ กิจวัตรประจำวัน แชร์พิกัด location เป็นประจำ ทำให้ง่ายต่อการตามรอยของพวกมิจฉาชีพที่หวังจะคอยดักปล้น ขโมยทรัพย์สิน หรือตามไปทำร้ายถึงที่พักได้ เพราะโลกออนไลน์ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว แม้ว่าจะมีคนอีกจำนวนมากเข้าใจว่าสามารถโพสอะไรก็ได้ เพราะเป็นหน้าฟีดตัวเอง ย่อมเป็นโลกส่วนตัว บอกเลยว่า ไม่ใช่! เพราะต่อให้คุณตั้งระบบ private ที่อาจมีแค่เพื่อนของคุณเท่านั้นที่สามารถเห็นการแชร์ของคุณได้ แต่มันก็ยังอยู่ในโลกไซเบอร์ ที่แฮกเกอร์ทั้งหลายเจาะระบบดูข้อมูลของคุณได้ทุกเมื่อ และไม่แน่ มิจฉาชีพอาจอยู่ในรายชื่อเพื่อนของคุณก็ได้ เพียงแต่คุณไม่รู้! 

ดังนั้น ควรพิจารณาก่อนทุกครั้งที่จะโพสข้อมูลส่วนตัว หรือจะโพสอะไรก็ตามในโลกโซเซียล เพราะคุณอาจกำลังเปิดประตูหน้าบ้านให้โจรเข้ามาปล้นได้ง่ายกว่าเดิม รวมไปถึงการโพสข้อความใด ๆ ที่ไปเกี่ยวโยงกับผู้อื่น ก็ต้องระวังให้มากด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า social network เป็นไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัว และตอนนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีผลบังคับใช้ การโพสที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาจผิดกฏหมายและโดนจับได้   

6. เปิด Bluetooth ทิ้งไว้ 

ลองเช็กกันหน่อย คุณเปิด Bluetooth ค้างอยู่หรือเปล่า? รู้ไหมว่า การใช้บลูทูธ หรือใช้ smalltalk ไร้สาย สามารถโดนดักฟัง และโดนแฮกข้อมูลรายชื่อโทรศัพท์ ภาพ วิดีโอ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ได้จากการเชื่อมต่อ Bluetooth !!  ดังนั้น ให้ปิด Bluetooth ทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการใช้งาน เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล 

7. Log in เข้าแอปธนาคาร แล้วไม่ Logout ออก 

ไม่ว่าคุณจะล็อกอินเข้าใช้แอปธนาคารบนมือถือส่วนตัว หรือจากการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลและการสวมรอยขโมยเงินทางออนไลน์ได้ วิธีป้องกันไม่ให้โดนดูดเงินในบัญชีจนหมดตัว คือ ทำการ logout ออกจากแอปธนาคารทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการทำธุรกรรม และควรเปลี่ยนรหัสผ่านเพื่อเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น  

8. ไม่ล้างข้อมูลบนสมาร์ทโฟนก่อนขายต่อหรือยกให้คนอื่นไปใช้ 

หลายคนอาจมีการลบภาพและข้อมูลอื่น ๆ ในมือถือ ก่อนที่จะนำไปขายต่อ หรือยกให้คนอื่นเอาไปใช้งาน แต่รู้ไหมว่า มีวิธีกู้ไฟล์ที่ลบกลับมาได้ ทำให้คนอื่นสามารถนำข้อมูลของคุณไปใช้งานหรือสวมรอยได้ทันที ดังนั้น ควร Wipe ล้างข้อมูลบนสมาร์ทโฟนของคุณให้เกลี้ยง ตั้งค่าจากโรงงาน ให้หน้าจอและภายในเครื่องเหมือนตอนซื้อมาใหม่ ๆ ที่ไม่เคยแกะกล่องผ่านการใช้งาน แล้วจึงค่อยนำไปขายหรือส่งต่อให้คนอื่นนำไปใช้