เจ็บป่วยไม่มีสาเหตุ เช็กเลย ใช่ภาวะ SBS หรือป่วยโรคแพ้ตึกอยู่หรือเปล่า 

ใครที่มักจะมีอาการระคายเคืองดวงตา คันตา น้ำตาไหล คันคอ ระคายเคืองในคอ คันคอ คันจมูก ภูมิแพ้ หายใจขัด มีอาการหอบหืด อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง ปวดศีรษะ โดยเฉพาะรอบ ๆ หน้าผาก หรือกระบอกตาทั้ง 2 ข้าง และบริเวณต้นคอ และจะยิ่งมีอาการมากขึ้น หรือมีอาการเป็นประจำ ต่อเนื่องนาน ๆ เวลาที่อยู่ในสำนักงานหรือที่ัพักอาศัย แต่อาการจะทุเลาลงหรือรู้สึกดีขึ้นเมื่อออกจากสถานที่นั้น อาจสันนิษฐานได้ว่า คุณกำลังเผชิญกับ “ตึกเป็นพิษ” ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ “โรคแพ้อาคาร” โรคฮิตของมนุษย์ตึกในปัจจุบัน 

โรคแพ้อาคาร หรือเรียกอีกอย่างว่า โรค SBS ย่อมาจาก Sick Building Syndrome คือ อาการป่วยที่เกิดจากร่างกายมีภาวะผิดปกติด้านสุขภาพ ซึ่งเกิดจากการได้รับมลภาวะภายในอาคาร โดยอาจมีสาเหตุได้หลายปัจจัย ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เช่น วัสดุโครงสร้างหรือสีที่ใช้ภายในอาคาร ระบบการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร จนส่งผลให้มีอาการป่วย แต่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค มักจะพบในกลุ่มคนทำงานในอาคาร หรือผู้ที่ใช้เวลาอยู่ในอาคารต่อเนื่องนาน ๆ เช่น สำนักงาน และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อออกนอกตัวอาคาร 

อาการของ SBS หรือโรคแพ้ตึก

โดยอาการของ SBS มักจะปรากฏเมื่อผู้ป่วยอยู่ในอาคาร และจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ปวดศีรษะ โดยเฉพาะปวดบริเวณหน้าผากหรือกระบอกตา 
  • ปวดตา หรือ มีอาการแสบตา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คันคอ ระคายเคืองคอ เจ็บคอ 
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  • มีอาการภูมิแพ้ เช่น จาม คันตา 
  • อ่อนเพลีย 
  • หงุดหงิด
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีอาการหลงลืม 
  • ผิวแห้ง เป็นผื่น 
  • ปวดท้อง 
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก 
  • มีอาการกำเริบรุนแรงในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบ โรคหืด 

นอกจากนี้ บางรายอาจมีอาการง่วงเหงาหาวนอน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ง่วงนอน และบางรายอาจมีอาการเรื้อรังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แพ้สารเคมีง่ายขึ้น หรือ ระบบประสาทผิดปกติ 

โรคตึกเป็นพิษมีสาเหตุมาจากอะไร 

สาเหตุของการเกิดโรคแพ้อาคาร ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ SBS ดังนี้ 

  • อากาศในอาคารไม่ถ่ายเท 
  • สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในอาคาร เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ สีภายในอาคาร น้ำยาถูพื้น น้ำยาเช็ดกระจก เป็นต้น 
  • จอคอมพิวเตอร์ไม่มีระบบกรองแสง 
  • ฝุ่นภายในอาคาร 
  • แร่ใยหินในอาคาร 
  • สภาพภูมิอากาศภายในอาคาร เช่น ความร้อน ความชื้น 
  • จุลชีพต่าง ๆ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย 
  • มลพิษในบริเวณใกล้เคียง
  • เสียงรบกวน 
  • แสงสว่างภายในอาคาร 
  • ความเครียดจากงาน
  • มีภาวะโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า

สรุปสาเหตุหลัก ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคแพ้อาคาร หรือ โรค SBS คือ อาคารใช้วัสดุก่อสร้างและตกแต่งจากวัสดุสังเคราะห์ ที่ทำให้เกิดสารพิษ การระบายอากาศภายในอาคารไม่ดี และ ก๊าซพิษจากสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในตึก ดังนั้น สารพิษจากโครงสร้างอาคาร วัสดุตกแต่งต่าง ๆ ถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการ SBS เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ พลาสติก กระดานไฟเบอร์ และเศษไม้ ที่ใช้กาวเรซินหรือยางสังเคราะห์ยึดติดวัสดุเข้าด้วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ปล่อยสารพิษออกสู่อากาศ และเราก็สูดดมเข้าร่างกายโดยไม่รู้ตัว ยังไม่รวมถึงเครื่องใช้ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีการปล่อยสารพิษเป็นไอระเหยสู่อากาศ วนเวียนอยู่ภายในอาคาร ทำให้เราเจ็บป่วยโดยไม่มีสาเหตุได้ง่าย 

การรักษาโรคตึกเป็นพิษ 

แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะ SBS โดยเฉพาะ แต่สามารถบรรเทาอาการตามที่เป็น และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบ เช่น ใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้เมื่อมีอาการคันบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ใช้ยารักษาโรคหอบหืดเพื่อรักษาภาวะหายใจลำบาก หรือ ใช้ยาฟลูออกซิทีนเพื่อช่วยให้นอนหลับและบรรเทาความเครียด และหาโอกาสออกไปนอกอาคาร หรือออกไปยืนรับลมตรงระเบียง ริมหน้าต่าง หรือไปเดินเล่น ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ อาจปรับปรุงสภาพแวดล้อมในบ้านหรือที่ทำงาน ดังนี้ 

  • เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และให้อากาศหมุนเวียน 
  • กำจัดฝุ่นและทำความสะอาดเป็นประจำ 
  • ลดความเครียด พักสายตา ลุกเดินยืดเส้นยืดสาย หรือออกไปเดินเล่นนอกอาคารช่วงเวลาพักบ้าง
  • เปลี่ยนอุปกรณ์เก่าและก่อมลพิษภายในสำนักงาน เช่น หลอดไฟ จอคอมพิวเตอร์ ปลั๊กไฟ หลอดไฟ เครื่องปริ๊นซ์ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น เป็นต้น หรือเปลี่ยนไปใช้ที่เป็นออแกนิก ปราศจากส่วนผสมที่เป็นสารเคมี 
  • หาต้นไม้ฟอกอากาศช่วยดูดซับสารพิษมาปลูกหรือตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านหรือภายในสำนักงาน  

สำหรับวิถีชีวิตคนเมือง ย่อมมีโอกาสสูงของการเกิดภาวะตึกเป็นพิษ และรูปแบบไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันอาจทำให้หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การหาโอกาสไปพักผ่อนในสถานที่ธรรมชาติ หรือไปนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจตามสวนสาธารณะบ้าง เพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็น “มนุษย์ตึก” แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น และอาจไม่ได้ช่วยให้หายขาด แต่ก็ช่วยบรรเทาจากภาวะ SBS ลงได้บ้าง