ทำไมถึงไม่มีแฟน? ไม่อยากมีแฟนเหรอ? หลายคนที่อาจเคยคำถามนี้ แม้ว่าบางคนอาจไม่ต้องการมีแฟนจริง ๆ แต่บางคนไม่มีแฟนเพราะเป็น “โรคกลัวความรัก” ที่หลายคนอาจเคยได้ยิน หรือพูดกันติดปาก แต่รู้ไหมว่า จริง ๆ แล้วโรคนี้คือโรคอะไร มีอาการแบบไหน เป็นโรคร้ายแรงแค่ไหน และจะรักษาได้ไหม เรามาทำความรู้จักโรคกลัวความรักกันในบทความนี้กันเลย
โรคกลัวความรัก คืออะไร
โรคกลัวความรัก Philophobia คือ โรคชนิดหนึ่งทางจิตเวช หรือเรียกว่า ภาวะทางจิตประเภทหนึ่งในโรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) ซึ่งไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงในทางการแพทย์ แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อาจกลายเป็นคนเก็บตัว จนอาจไม่กล้าออกไปพบเจอผู้คน หลีกเลี่ยงต่อการเข้าสังคม อยู่แต่กับตนเองและอาจเกิดความเครียดหรือกลายเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และอาจนำไปสู่การใช้สารเสพติด หรือฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
แม้ว่าในทางการแพทย์ การหวาดกลัวที่จะมีรักไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่ที่เรียกว่า โรคกลัวความรัก หรือ โรคกลัวการมีแฟน มาจากการเรียกติดปากของคนทั่วไป ซึ่งคำว่า “Philophobia” เป็นคำภาษากรีก โดยคำว่า “Philos” หมายถึง ความรัก และ “Phobos” หมายถึง ความกลัว
Philophobia อาการกลัวการตกหลุมรัก กลัวในการพัฒนาความสัมพันธ์ วิตกกังวลว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ได้ ทำให้ไม่ต้องการมีความรัก ซึ่งอาการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่นเดียวกับความกลัวในรูปแบบอื่น ๆ เช่น กลัวการอยู่ในที่สาธารณะ (Agoraphobia) กลัวแมงมุม (Arachnophobia) กลัวความสูง (Acrophobia) หรือ โรคกลัวความเจ็บปวด เป็นต้น
สาเหตุของโรคเกี่ยวกับความรัก
โรคกลัวความรักเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น
- มีอดีตที่ไม่ดีฝังใจ เช่น เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ หย่าร้าง หรือมีคนรอบข้างผิดหวังกับความรักเปเป็นประจำ
- มีความสัมพันธ์ที่ล้มเหลวมาก่อน เช่น ถูกหักอก ถูกนอกใจ ฯลฯ ทำให้ไม่อยากข้องเกี่ยวกับความรักอีก
- วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ผู้ที่หวาดกลัวในความรักบางคนอาจมีสาเหตุมาจากความเข้มงวดหรือข้อห้ามทางวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนา เช่น ข้อห้ามในการแสดงความรักฉันท์ชู้สาว การบังคับการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก เป็นต้น
- กลัวการถูกปฏิเสธ หรือคิดว่าตนไม่มีค่าพอ ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง และกลัวการถูกปฏิเสธ จึงปิดกั้นตนเองจากการมีความรัก
อาการโรคกลัวความรัก มีการแสดงออกแตกต่างกันไปในแต่ละราย โดย Philophobia อาการส่วนใหญ่มีดังนี้
อาการทางกาย
- สั่นกลัว
- ร้องไห้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หายใจหอบถี่
- เหงื่อออกมาก
- กระสับกระส่าย
- รู้สึกชาปลายมือปลายเท้า
- เป็นลม หมดสติ
อาการทางจิตใจ
- วิตกกังวลง่าย
- ไม่ไว้ใจใคร
- ไม่ชอบเข้าสังคม
- ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว
- รู้สึกกังวลเมื่อเริ่มต้นความสัมพันธ์
- ตีตัวออกห่างเมื่ออีกฝ่ายเริ่มสานสัมพันธ์ลึกซึ้ง
- หลีกเลี่ยงไปสถานที่ชุมชน หรือที่มีคนเยอะ ๆ
สำหรับผู้มีภาวะ Philophobia วิธีรักษาขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรง และคนใกล้ตัวอาจคิดว่าผู้หญิงกลัวความรักก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากมีอาการทางกายและจิตใจที่มากเกินไป ก็อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นจะต้องสังเกตความผิดปกติตั้งแต่เริ่มมีการเก็บตัว เงียบขรึมกว่าที่เคย หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ฯลฯ ก็สามารถเข้าพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาได้
โรคกลัวความรัก วิธีรักษาต้องทำอย่างไร
การรักษาโรคกลัวความรัก หรือ Philophobia รักษาด้วยการบำบัดหรือการให้คำปรึกษา ควบคู่กับการใช้ยา โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- Systematic Desensitization Therapy กระบวนการลดความวิตกกังวลอย่างมีระบบ ซึ่งแนวทางการบำบัดวิธีนี้จะให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว แพทย์จะให้ผู้ป่วยสร้างความสัมพันธืกับเพศตรงข้าม อาจในรูปแบบการพูดคุย การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ป่วยเริ่มคุ้นเคยและบรรเทาความกลัวให้ลดลง
- Cognitive Behavioral Therapy (CBT) การบำบัดพฤติกรรมทางความคิด แนวทางการรักษาโดยเน้นการปรับทัศนคติ และการปรับเปลี่ยนมุมมองความรักในเชิงบวกให้กับผู้ป่วย
- Eye Movement Desensitization and Reprocessing (EMDR) วิธีการบำบัดบาดแผลทางใจของผู้ป่วย ความทรงจำที่เลวร้าย เหตุการณ์ที่ฝังใจต่าง ๆ ให้คลี่คลายลง ด้วยกระบวนการเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ของผู้ป่วย
การใช้ยากับโรคกลัวความรัก สำหรับผู้มีภาวะ Philophobia บางรายอาจมีการใช้ยากลุ่มโรคซึมเศร้า หรือโรค Panic ร่วมด้วย เพื่อให้ยาช่วยบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วย่ผ่อนคลายจากความวิตกกังวลที่มี เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคกลัวความรักโดยเฉพาะ และจิตแพทย์จะเป็นผู้สั่งยาให้ตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละส่วนบุคคล