ใครเคยโดนเห็บกัดบ้าง?
เชื่อว่ามีหลายคนที่ต้องเคยมีประสบการณ์โดนเห็บกัด หรือเห็บกัดลูก กัดคนในบ้าน กัดสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเหล่าทาสหมา ทาสแมว และบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง เพราะเห็บหมัดตัวร้ายมักจะอาศัยสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรานี้แหล่ะเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งอาหารพร้อมไปในตัว หรือคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์อะไรเลยก็ตาม ก็อาจเจอเห็บกัดได้เช่นกัน เพราะเห็บอาจถูกลมพัดมาจากที่อื่น หรือบริเวณใกล้เคียงมีแมวและสุนัขจรจัด แล้วเห็บคลานมาตามพื้นและแอบบุกเข้าบ้านโดยที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะตัวมันเล็กมาก ๆ รู้ตัวอีกทีก็โดนเห็บกัดไปแล้ว
ส่วนใหญ่คนที่ถูกเห็บกัดมักจะไม่มีอาการเจ็บ เนื่องจากน้ำลายของเห็บนั้นมีสารที่ก่อให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ที่โดนเห็บกัดไม่รู้ตัว แต่จะรู้ได้อีกทีเมื่อเห็บกัดคันไม่หาย มีร่องรอยของเห็บกัด เป็นตุ่มแดง หรือมีไข้ในคนที่แพ้น้ำลายเห็บ
เห็บ คืออะไร
เห็บ คือ ปรสิตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยการดูดเลือดสัตว์และมนุษย์เป็นอาหาร มีหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์เป็นพาหะนำโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส โดยผ่านทางน้ำลายเห็บ ก่อให้เกิดโรคอันตราย เช่น โรคไข้เห็บ (Ehrlicosis) โรคทูลาริเมีย (Tularemia) หรือ โรคลายม์ (Lyme Disease) เป็นต้น แต่โรคเหล่านี้จะไม่ค่อยพบในประเทศไทยเท่าไร
เห็บมักจะหลบซ่อนตัวตามพงหญ้า ต้นไม้ พุ่มไม้ เมื่อสัตว์หรือมนุษย์เดินผ่าน ก็จะเกาะติดไปด้วยเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารและเป็นบ้านใหม่ของมัน โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทย คนมักจะมีเห็บติดมาจากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเห็บ หรือที่บ้านมีสัตว์เลี้ยงป่วยมีเห็บแล้วเห็บร่วงหล่นลงสู่พื้นและไต่ขึ้นคนแทน โดยจะไปแอบซ่อนในร่างกายตามบริเวณที่อุ่นและชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ หรือ เส้นผม เป็นต้น
เห็บมีกี่ชนิด
เห็บถูกพบทั่วโลกมากกว่า 800 สายพันธุ์ โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
- เห็บอ่อน คือ เห็บผนังลำตัวอ่อนนุ่ม และมีลักษณะยุ่น ๆ
- เห็บแข็ง คือ เห็บที่มีลำตัวเรียบ มีปากยื่นออกมาจากลำตัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กัดและดูดเลือดมนุษย์
เห็บกัด อาการเป็นอย่างไร
โดยส่วนใหญ่ คนมักไม่รู้สึกตัวเมื่อถูกเห็บกัดในช่วงแรก เพราะจะไม่ปรากฏอาการเจ็บหรือคันผิวหนังเหมือนตอนถูกสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างยุงหรือมดกัด อีกทั้งเห็บยังมีขนาดตัวที่เล็กมาก จึงทำให้สังเกตเห็นได้ยาก แต่โดยส่วนใหญ่คนที่ถูกเห็บกัดจะไม่รู้สึกตัวในช่วงแรก เพราะเห็บมีขนาดตัวเล็กมากจนไม่เป็นที่สังเกต และเมื่อเห็บกัดมักจะไม่มีอาการคันผิวหนังเหมือนสัตว์ชนิดอื่น ๆ กัด เช่น ยุงกัด หรือ มดกัด แต่เมื่อเห็บกัดไปได้ระยะหนึ่ง เห็บจะมีการขยายตัวขึ้นจนทำให้สามารถเห็นตัวได้ง่ายขึ้น เพราะมันจะยังคงอยู่ในบริเวณผิวหนังที่กัดและดูดเลือดกิน ไม่ได้หนีหายไปไหนเหมือนสัตว์หรือแมลงอื่น ๆ แต่ถ้าหากไม่ถูกพบเจอหรือถูกนำออกไปภายในระยะเวลา 7-10 วัน เห็บก็จะเลิกดูดเลือดและหลุดออกไปเอง
ปกติแล้วอาการแพ้เห็บหมัดมักจะเป็นเพียงเฉพาะที่ แต่ก็มีผู้ป่วยที่อาจแพ้น้ำลายเห็บ เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังถูกเห็บกัด ซึ่งอาการเห็บกัดมีแตกต่างกันไป ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรงจนอาจเสียชีวิตได้ ดังนี้
- มีจุดแดงหรือผื่นขึ้นในบริเวณที่เห็บกัด
- มีผื่นขึ้นทั่วร่างกาย
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- คอเคล็ด
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยตามตัว
- รู้สึกแสบร้อนในบริเวณที่ถูกกัด
- หนาวสั่น เป็นไข้
- หายใจติดขัด
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- เป็นอัมพาต (หลังโดนกัด 4-7 วัน)
- ระบบหายใจล้มเหลว
หมายเหตุ : อาการอัมพาตจากการถูกเห็บกัด สามารถดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อคีบนำเห็บออกจากผิวหนังของผู้ที่ถูกเห็บกัด
วิธีกำจัดเห็บด้วยตนเอง
เมื่อรู้ตัวว่าโดนเห็บกัด จะต้องรีบกำจัดเห็บออกไปทันที แต่จะต้องระวังในการนำเห็บออก เพราะหากกำจัดเห็บออกไปไม่ถูกวิธี อาจจะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือรุนแรง หรือมีอาการลุกลามได้ ดังนั้นควรกำจัดเห็บออกด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ก่อนนำเห็บออก ควรฉีดพ่นยากันแมลงที่มีส่วนประกอบสารไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) หรือ สารไพรีทริน (Pyrethrin) ลงบนบริเวณที่ถูกเห็บกัด หรือนำครีมที่มีส่วนผสมของสารเพอร์เมทริน (Permethrin) ทารอบ ๆ บริเวณดังกล่าว เพื่อให้เห็บเป็นอัมพาต จะช่วยให้ดึงเห็บออกได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ควรนำสารเคมีอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น เมทิลแอลกอฮอล์ (Methylated Spirit) น้ำมันก๊าด (Kerosene) เป็นต้น
- ห้ามใช้เข็มหรือวัตถุใด ๆ สะกิดตัวเห็บหลังจากฉีดพ่นยาแล้วเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เห็บดึงออกยากขึ้น แต่ควรใช้แหนบดึงตัวเห็บด้วยความระมัดระวัง โดย พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้แนะนำการดึงเห็บออกว่า ให้ใช้แหนบคีบส่วนหัวของเห็บแล้วค่อย ๆ ดึงขึ้นตรง ๆ อย่าคีบหรือดึงบริเวณลำตัวหรือท้องของเห็บ และต้องไม่บิดเหน็บหรือคีมขณะที่กำลังคีบเห็บ เพราะจะทำให้ส่วนปากของเห็บติดค้างอยู่ในผิวหนัง และห้ามกระชาก บีบ ขยี้ หรือเจาะตัวเห็บ เด็ดขาด เพราะจะทำให้ของเหลวที่มีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมาจากตัวเห็บ ก่อให้เกิดอาการของโรครุนแรงตามมาได้
เห็บกัดรักษายังไง
เมื่อนำตัวเห็บออกไปได้แล้ว สามารถรักษาอาการผิวหนังบวมแดงด้วยการทายาลดการอักเสบ สำหรับบางคนที่บวมแดงมากหลังจากถูกเห็บกัด ทายาอะไรก็ไม่หายสักที แพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาใต้ผิวหนังเพื่อลดอาการให้
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม หลังจากดึงตัวเห็บออกแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม เพราะถ้ามีอาการแพ้มาก แพทย์จะทำการนำเลือดไปตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อ และให้การรักษาตามอาการที่ถูกต้อง ไม่ควรชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้แม้จะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม เพราะในผู้ป่วยบางรายที่แทบไม่มีอาการใด ๆ หลังจากถูกเห็บกัด แต่ปรากฏการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือโรครุนแรงอื่น ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีป้องกันเห็บกัด
การป้องกันไม่ให้โดนเห็บกัดสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงไปใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของเห็บ เช่น พุ่มไม้ พงหญ้า ต้นไม้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าว หรือต้องทำสวน ให้ใช้วิธีป้องกันดังต่อไปนี้
- เดินตามเส้นทางเดิน และหลีกเลี่ยงการเดินผ่านพุ่มไม้หรือพงหญ้า
- สวมใส่เสื้อผ้าสีสว่าง เพื่อให้เห็นเห็บที่ติดมากับเสื้อผ้าได้ง่าย
- สวมเสื้อผ้าปกปิดมิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงเท้าสูงคลุมถึงปลายกางเกง
- ใช้ยากันแมลงที่มีความปลอดภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสาร DEET 20-30% หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเพอร์เมทริน เป็นต้น
- หลังกลับจากการเดินทางในบริเวณดังกล่าว หรือบริเวณที่มักมีเห็บชุกชุม ให้ตรวจสอบตามร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณหลังหู คอ และ ศีรษะ รักแร้ ข้อพับต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่เห็บมักจะใช้หลบซ่อนตัว
- รีบถอดเสื้อผ้าออกและแช่น้ำยาซักที่มีประสิทธิภาพสูง และนำไปเข้าเครื่องอบผ้า หรือใช้ไดร์เป่าผมเป่าผ้าอีกประมาณ 20 นาที เพื่อฆ่าเห็บที่อาจยังไม่ตายจากการซัก
- อาบน้ำด้วยสบู่และสระผมทันที โดยให้แช่สบู่และยาสระผมไว้ประมาณ 5-10 นาที ก่อนล้างออกให้สะอาด เพื่อกำจัดเห็บที่ติดมาตามร่างกายหรือในเส้นผม
- ดูแลสัตว์เลี้ยงโดยกำจัดเห็บอยู่เสมอ หมั่นอาบน้ำให้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกำจัดเห็บ และอาจเลือกใช้ยากำจัดเห็บหมัดสำหรับสัตว์เลี้ยงร่วมด้วย
- บ้านที่มีสัตว์เลี้ยงต้องหมั่นทำความสะอาด และใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ช่วยกำจัดเห็บหมัดตามบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่อาศัย