จนถึงขณะนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ยังระบาดหนักแข่งกับยุง เมื่อเหยื่อเริ่มรู้ทัน ก็ขยันหามุกใหม่ ๆ มาหลอกลวงให้เหยื่อหลงกล วันนี้เราได้มีคำแนะนำทำอย่างไรในการรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มาฝากค่ะ
1. ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ก่อนรับสาย
เมื่อมีสายเรียกเข้า หากเป็นหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย เป็นเบอร์ที่เราไม่ได้บันทึกรายชื่อไว้ โดยเฉพาะเบอร์แปลก ๆ เช่น เบอร์จากต่างประเทศ หรือแม้แต่หมายเลขที่มี + นำหน้า ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ให้นำหมายเลขที่โทรเข้ามาไปตรวจสอบให้แน่ชัด โดยการค้นหาเบอร์โทรศัพท์ผ่านโซเซียลมีเดีย เช่น Facebook , Instagram , Line , Linedln เพื่อตรวจสอบเชื่อมโยงกับข้อมูลใดได้บ้าง หรือใช้แอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งเป็นแอปตรวจสอบสายโทรเข้า หากเป็นหมายเลขที่ส่อในทางทุจริต แสกมเมอร์ สแปม หรือเป็นเบอร์ที่ไม่น่าไว้ใจ จะมีการบันทึกจากผู้ใช้งานแอปพลิเคชันคนอื่น ๆ ไว้ และจะแจ้งเตือนหมายเลขที่โทรเข้ามาเข้าข่ายหรือไม่ เพื่อป้องกันการรับสายในเบื้องต้น
2. ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่นเด็ดขาด
กรณีที่เผลอรับสายโทรศัพท์เบอร์แปลก ๆ อย่ารีบลนลาน แต่ให้มีสติ รับฟังว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร แต่ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆ เด็ดขาด แม้ว่าอีกฝ่ายจะอ้างว่าติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นตำรวจ พนักงานธนาคาร หรือสรรพากรใด ๆ ก็ตาม และต่อให้อีกฝ่ายมีข้อมูลใกล้เคียงกับคุณ ไม่ว่าจะเป็นชื่อญาติ พี่น้อง หรือประวัตธุรกรรมที่คุณเคยได้ทำไว้ อย่าได้หลงเชื่อใจ เพราะหลายคนที่พลาดหลังจากที่อีกฝ่ายแจ้งข้อมูลบางอย่างได้ถูกต้อง จนเชื่อสนิทใจและหลงกลในที่สุด
3. ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด
เมื่ออีกฝ่ายแจ้งสิ่งใดมา หรือให้ข้อมูลอะไรมาก็ตาม ให้คุณแนะนำซักถามข้อมูลเหล่านั้นให้ละเอียด เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล เช่น อีกฝ่ายแจ้งว่าคุณมีการค้างชำระเงินค่าบริการ ให้คุณถามจำนวนยอดเงินที่ค้างชำระทั้งหมด ตั้งแต่เดือนไหนถึงเดือนไหน เดือนล่าสุดที่ชำระไปแล้วคือวันที่เท่าไร เดือนอะไร ชำระผ่านช่องทางไหน เป็นต้น เพื่อจะได้ดูอีกฝ่ายสามารถตอบได้ตรงมากน้อยแค่ไหน
และต่อให้อีกฝ่ายตอบได้ถูกต้อง ก็อย่าเพิ่งปักใจทันที ควรติดต่อไปยังองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น องค์การโทรศัพท์ บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ หรือธนาคารที่คุณใช้บริการ ตรวจสอบให้ละเอียด แม้จะยุ่งยากและหลายขั้นตอน แต่มีความสำคัญ จึงแนะนำว่าควรทำอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ และถ้าหากเป็นเหล่ามิจฉาชีพ จะได้ช่วยกันแจ้งหน่วยปราบปรามทุจริต เพื่อเตือนคนอื่น ๆ ไม่หลงกลกลายเป็นเหยื่อของแก๊งค์คอนเซ็นเตอร์
4. ติดต่อสถาบันการเงิน
หากเผลอหลงกลแก๊งค์เซ็นเตอร์ไปแล้ว ให้รีบติดต่อสถาบันการเงินทันที เพื่อทำการอายัดบัตร และขอความช่วยเหลือธนาคารตรวจสอบบัญชีปลายทาง พร้อมกับทำเรื่องแจ้งความให้เร็วที่สุด เพื่อประสานงานควบคู่กับสถาบันการเงิน และแนะนำให้นำใบแจ้งความไปติดต่อกับองค์กรใหญ่ของสถาบันการเงินนั้น ๆ ด้วย ดีกว่าการติดต่อสาขาย่อยอย่างเดียว เพื่อตัดความล่าช้าของการยื่นเรื่องส่งต่อในบางธนาคารที่หลายคนก็ทราบกันดี