ประวัติวันพืชมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วย 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ จะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ โดยจะประกอบพระราชพิธีในวันถัดไป ณ ท้องสนามหลวง 

ภาพจาก http://event.sanook.com/

พิธีแรกนามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และพระยาแรกนาคือใคร

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา หรือ พิธีแรกนา มีมาช้านานตั้งแต่ครั้งที่สุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในการทำนาและการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยที่มีมาช้านานและให้คงไว้สืบไป แต่เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นประธานด้วยพระองค์เอง แต่ได้มอบอาญาสิทธิ์ให้เจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ และปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องกันมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา 

เมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงแต่งตั้งให้ราชการชั้นผู้ใหญ่ เจ้าพระยาพลเทพ เป็นผู้ทำการแรกนา คู่กับการยืนชิงช้า โดยไม่ได้จัดทำพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นเสียว่าพระองค์ต้องการทอดพระเนตรเท่านั้น โดยในช่วงแรก ๆ พิธีไม่ได้เป็นไปแบบตายตัว อย่างในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ให้ถือว่าผู้ใดยืนชิงช้าคือผู้แรกนา จนกระทั่ง รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วย ทำให้เกิด พระราชพิธีพืชมลคล เป็นครั้งแรก โดยจัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงทำให้มีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

ทำไมวันพืชมงคลในแต่ละปีจึงไม่ตรงกันเลย

วันพืชมงคลมีจุดมุ่งหมายเพื่อความเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรทุกคน จึงถูกกำหนดให้จัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูที่เหมาะแก่การทำนาและเพาะปลูกการเกษตรต่าง ๆ โดยจะเลือกวันที่ดีที่สุดในปีนั้น ๆ สำหรับจัดทำพระราชพิธี จึงทำให้วันพืชมงคลของทุกปีไม่ตรงกัน

ปี พ.ศ.2479 เป็นปีสุดท้ายที่ได้จัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแบบเต็มรูปแบบ จากนั้นได้เว้นหายไปจนกระทั่งปี พ.ศ.2503 ได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษาพระราชประเพณีดีงามนี้ไว้ จึงได้มีการจัดพระราชพิธีขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน และพระบาทสมเด็พระบรมชนการธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น และพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีทุกปี และทำการอธิษฐานให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ในอาณาจักรไทย โดยเฉพาะ ข้าว ซึ่งถือว่าเป็นอาหารหลักของคนไทย และธัญพืชจำพวก ถั่ว งา รวมไปถึงพืชพันธ์ุอื่น ๆ  

พืชพันธุ์หลักที่ใช้ในพระราชพิธีจะมีข้าวเปลือก ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และเมล็ดพืชพันธ์ุต่าง ๆ 40 ชนิดด้วยกัน โดยแต่ละชนิดจะถูกบรรจุในถุงผ้าขาวกับเผือกมันต่าง ๆ ข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาคือข้าวพันธุ์ดีที่ปลูกในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยจะมีการแบ่งส่วนหนึ่งเพื่อใช้หว่านในพระราชพิธี และอีกส่วนหนึ่งบรรจุกระเช้าเงินและกระเช้าทองอย่างละคู่ ส่งไปแจกจ่ายชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้เป็นมิ่งขวัญมงคลหรือนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป 

นอกจากนี้ วันพืชมงคลยังถูกกำหนดให้เป็นวันเกษตรกรประจำปี เมื่อปี พ.ศ.2509 เพื่อให้ประชาชนและชาวเกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญการเกษตรกรรม ซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน และยังประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ โดยมีการจัดวันเกษตรกรควบคู่กับพระราชพิธีพืชมงคลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน