รู้หรือไม่ สุขภาพ “เล็บ” บ่งบอกสุขภาพ “คุณ”

แม้เล็บของเราดูจะไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่นอกจากจะได้ในเรื่องของความสวยงาม แต่เอาจริงๆ เราไม่ค่อยตระหนักว่าเล็บเราสำคัญแค่ไหน นอกจากจะทำให้ปลายนิ้วมีความแข็งแรงมากขึ้นเหมือนเป็นอุปกรณ์ดามอย่างหนึ่ง เล็บยังสามารถบ่งบอกสุขภาพของเราได้อีกด้วย

โดยปกติแล้ว การจะดูว่าเล็บมีสุขภาพดีหรือไม่จะดูจากสีเป็นหลัก ซึ่งหากมีสีขมพูจางๆ ไม่มีสีขาวผสม พื้นผิวเรียบ และผิวหนังรอบๆ เล็บไม่มีรอยร่น หรือเปื่อยจนเหมือนแผลถลอก เราก็จะบอกได้ว่านี่คือเล็บที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ ซึ่งหากพิจาณาเล็บของคุณแล้วมีความแตกต่างที่จากที่กล่าวมา หรือแม้แต่เล็บดูหนาหรือบางเกินไป เราอาจจะต้องเช็คสุขภาพดูอีกครั้ง เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน

พญ. ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ระบุว่า สุขภาพเล็บที่ผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากๆ ปัจจัย เช่น การติดเชื้อ สารเคมีภายนอก การกระเแทก หรือแม้แต่โรคมะเร็งก็ได้เช่นกัน

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเล็บของเรากำลังส่งสัญญาณทางกายภาพให้เรารู้ว่าเราควรต้องไปเช็คสุขภาพเราด่วนๆ

สุขภาพ “เล็บ” บอกโรค

เล็บหนา หรือบางมากเกินไป

หากคุณสังเกตว่าเล็บของคุณเริ่มมีความหนามากขึ้นจากปกติ มีความเป็นไปได้อย่างมากถึงโรคเชื้อรา โดยยังสามารถพบลักษณะร่วมอย่างอื่นๆ ได้ด้วยเช่น มีสีขาวหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวเล็บเริ่มขรุขระ ซึ่งส่วนมากโรคเชื้อราจะสามารถทำให้เล็บเราหนาขึ้นได้ แต่เพียงบางเล็บ ทำให้เราสังเกตง่าย และอาจรักษาได้อย่างทันท่วงที แต่หากคุณพบว่าจู่ๆ เล็บของคุณทุกเล็บเกิดหนาขึ้นพร้อมๆ กัน มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าคุณกำลังเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรพบแพทย์โดยทันที

แล้วหากเล็บเราบางกว่าปกติล่ะ? เล็บที่บางลงอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเป็นโรคโลหิตจาง เพราะเล็บบางมักเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งจะมีลักษณะบางและแอ่นสังเกตได้ง่าย แต่หากเป็นในผู้สูงอายุ อาจเป็นเรื่องปกติ เพราะในผู้สูงอายุหลายคน เล็บจะบางและเปราะง่ายบริเวณปลายเล็บ

เล็บมีพื้นผิวขรุขระ

นอกจากการเป็นโรคเชื้อราแล้ว อาการที่พบได้บ่อยในเล็บขรุขระก็คือโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากการเป็นเชื้อรานิดหน่อยตรงที่ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็กอย่างไม่ทราบสาเหตุ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือโรคเรื้อรัง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวาง จากการที่เล็บมีการสร้างเล็บที่ผิดปกติขณะเจ็บป่วย

ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง

ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง อาจพบได้ในคนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย จึงเกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาดบ้าน บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้เช่นกัน 

ในผู้ป่วยบางคนที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังที่อ่อนแอส่วนนี้ ผิวหนังรอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย อาการบวมแดงมักเป็นมาไม่นาน ซึ่งต่างจากคนที่มีผิวหนังรอบเล็บบวมจากการระคายเคืองของสารเคมี

เล็บเปลี่ยนสี

เล็บที่เปลี่ยนสี อาจเกิดจากภาวะโรคทางกายภาพ เช่น

– เล็บมีสีดำ อาจเป็นเพราะมะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝหรืออาจเป็นขึ้นมาเอง กรณีมะเร็งผิวหนังมีข้อสังเกตคือ ลักษณะเล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำสีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน อาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วย

– เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บ พบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง

– เล็บที่มีสีขาวสองในสามของเล็บ พบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและหัวใจวาย

– เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ (Hypoalbuminemia) เล็บดังกล่าวเมื่อใช้มือกดไปที่เล็บ สีขาวที่เห็นจะจางลง

เล็บเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็งผิวหนัง การกระแทก (เล็บขบ) หรือเชื้อราก็ได้

ปลายเล็บเปื่อยร่น

อาการปลายเล็บร่น (Onycholysis) ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้

วิธีรักษาอาการเล็บผิดปกติ

แพทย์จะดำเนินการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น

  • หากเล็บเป็นเชื้อรา แพทย์อาจขูดขุยจากบริเวณเล็บที่หนาไปตรวจหาเชื้อราและเพาะเชื้อราแยกชนิดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและพยากรณ์โรคได้อย่างเหมาะสม
  • ในกรณีที่แพทย์สงสัยโรคมะเร็งผิวหนัง อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อที่ใต้เล็บ เพื่อตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
  • หากเล็บบอกถึงโรคทางกาย อาจต้องตรวจเลือด เช่น ตรวจหาระดับธาตุเหล็ก โรคไทรอยด์ โรคไตและโรคตับ เป็นต้น