วิธีป้องกันไฟไหม้โรงงาน จากระบบไฟฟ้าลัดวงจร

จากข่าวโรงงานไฟไหม้ โรงงานระเบิด ที่นับวันยิ่งมีให้เราได้ยินกันมากขึ้น และแน่นอนความเสียหายและการสูญเสียนั้นนับว่ามหาศาลเลยทีเดียว และหลายครั้งที่อุบัติภัยจากระบบไฟฟ้าของโรงงานมีปัญหา สร้างความเสียหายขยายเป็นวงกว้างไปรอบ ๆ บริเวณ รวมถึงมลพิษทางอากาศที่ฟุ้งกระจายไปได้ไกล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชากรในบริเวณใกล้เคียงอีกนับร้อยนับพันคน 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรภายในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น มีความสำคัญและไม่ควรประมาทหรือมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในสถานประกอบการ อาคารขนาดกลางตลอดไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีการวางมาตรฐานสำหรับบริหารจัดการ ตั้งแต่การเริ่มการออกแบบถูกต้องตามระบบไฟฟ้าเบื้องต้น และเหมาะสมกับระบบไฟฟ้าโรงงาน เนื่องจากระบบไฟฟ้าในโรงงานมีความซับซ้อน และใช้ปริมาณกระแสไฟมากกว่าระบบไฟบ้าน หรือระบบไฟฟ้าอาคารทั่วไป เพื่อให้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนสามารถดำเนินการได้อย่างไม่สะดุด ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าลัดวงจร จนอาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้มากกว่าหลายเท่า จึงต้องมีวิศวกรรมไฟฟ้าเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อคำนวณค่าความปลอดภัย safety factor และการกำหนดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะนำมารองรับและสามารถใช้กับเครื่องมือต่าง ๆ ในโรงงานได้ตามพิกัดและแปลนที่วางไว้ 

ปัจจัยที่ต้องคำนึงเมื่อจะทำการติดตั้งระบบไฟฟ้ามีอะไรบ้าง 

1. ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต้องใช้งานของโรงงานนั้น ๆ 

2. อุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน ACB (Air Circuit Breaker) และต้องทดสอบ ACB ทุกปี 

3. อุปกรณ์ในตู้ MBD และตู้ย่อย DB มีความปลอดภัยต่อการรองรับกระแสไฟฟ้า

4. ขนาดสายไฟทั้งภายในตู้และนอกตู้จะต้องมีมาตรฐาน 

5. ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า และทำการตรวจสอบหม้อแปลงสม่ำเสมอ  

6. ต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้า โดยวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตามที่กฏหมายกำหนด 

7. ทำการอัพเดทแบบไฟฟ้า Single Line Diagram ให้ถูกต้องตรงกับหน้างานจริงและอุปกรณ์ในตู้เสมอ 

8. ควรทำการ PM ระบบไฟฟ้า บำรุงรักษา ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในโรงงานอุตสาหกรรม 

1. ตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้า 

ควรจัดทำผังเส้นทางของระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงานทุกชนิดอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นระบบการวางสายไฟ ตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า เส้นทางสายดิน เพราะหากยิ่งทำให้มีรายละเอียดและครบถ้วนมากเท่าไร ก็จะยิ่งสะดวกต่อการควบคุม และง่ายต่อการตรวจสอบในแต่ละครั้ง 

2. ตรวจสอบระบบฉนวนกันความร้อน 

ฉนวนกันความร้อนจะต้องมีการห่อหุ้มกับวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า และบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการสะสมความร้อนได้ง่าย  ทั้งสายไฟที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีเปลวความร้อน สายไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสูง หรือแม้แต่บริเวณเครื่องปรับอากาศภายในโรงงาน คอยตรวจสอบฉนวนกันไฟฟ้าเหล่านี้ให้ทั่วทุกจุด และหากพบชำรุด เก่า กรอบ หรือครบวาระการใช้งาน จะต้องรีบแก้ไขและเปลี่ยนใหม่ทันที เพื่อให้มั่นใจว่าฉนวนกันไฟฟ้าเหล่านี้จะทำงานได้อย่างมีคุณภาพตลอดอายุการใช้งาน และลดความเสี่ยงต่ออุบัติภัยที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เช่น ไฟช็อต ไฟดูด ไฟฟ้ารั่ว เป็นต้น 

3. การตรวจสอบระบบแสงสว่างภายในโรงงาน 

แสงสว่างภายในโรงงานก็นับว่ามีความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และควรตรวจสอบอยู่เสมอ ทั้งระบบสว่างทั่วไป และไฟฉุกเฉิน โดยคอยเช็คขั้วหลอดไฟจะต้องแน่นสนิทดี ไม่มีเสียงดังจากบัลลาสต์ ตรวจเช็คแบตเตอรี่ไฟสำรอง หากพบว่ามีไฟกระพริบหรือทำงานผิดปกติ ควรรีบแก้ไข อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากระบบไฟฟ้าเกิดปัญหา หรือไฟดับ ระบบไฟสำรองก็ไม่ทำงานด้วย ความเสียหายต่อระบบการผลิตย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากระบบไฟไม่ทำงาน

4. เลือกใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน 

ควรคัดเลือกเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในโรงงาน และทำการตรวจสอบให้ละเอียด เพื่อให้ได้เครื่องจักรที่เหมาะสมกับขนาดของสายไฟ กำลังหม้อแปลงไฟฟ้า และกำลังไฟฟ้าที่รองรับได้ในโรงงานนั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าเกิน จนนำพาไปสู่ไฟฟ้าลัดวงจร 

5. ดูแลรักษาตู้ควบคุมวงจรไฟฟ้า 

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมากกว่าระบบไฟฟ้าบ้านหลายเท่า อีกทั้งปริมาณสายไฟ แผงวงจรควบคุมระบบไฟฟ้าต่าง ๆ โรงงานจึงต้องนำตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่มาใช้งาน เป็นตู้สวิตซ์บอร์ด หรือ ตู้ MBD ทำหน้าที่ทั้งรับและจ่ายกระแสไฟฟ้า และเป็นแหล่งรวมวงจรไฟฟ้าภายในโรงงานทั้งหมด ทำให้เป็นจุดที่อันตรายสูง เนื่องจากจะเป็นจุดที่มีความร้อนสูง ต้องใส่ใจในการดูแลเป็นพิเศษ ตั้งแต่การเลือกซื้อกับร้านขายตู้ MDB ที่จำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าได้มาตรฐานตู้ MDB เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อการรองรับปริมาณกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ตลอดจไปจนถึงการที่ต้องคอยถ่ายเทความร้อน เพื่อไม่ให้มีการสะสม และตรวจสอบตู้mbd ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ตลอดอายุการใช้งาน เพื่อประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า และป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร 

6. ติดตั้งสายดิน 

สายดิน คือ ระบบไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าเกินเข้าไปในระบบวงจร จนอาจทำให้เกิดการลัดวงจรได้ ดังนั้นในการติดตั้งระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงานทุกครั้ง ควรมีการติดตั้งสายดินเอาไว้ด้วย ควรทำการตรวจสอบ หมั่นเช็คประสิทธิภาพของประจุไฟฟ้า และการทำงานของสายดินสม่ำเสมอ 

7. ควบคุมระบบการทำงานที่ทำให้เกิดประกายไฟ 

ระบบการทำงานในโรงงานส่วนใหญ่ มักจะมีเปลวความร้อนหรือประกายไฟ ที่เกิดจากเครื่องจักร หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนั้นผู้ที่ทำงานในส่วนเหล่านี้ ควรมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเหมาะสมขณะปฏิบัติงาน หรือเมื่ออยู่ในบริเวณที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น แว่นตาป้องกันสะเก็ดไฟ หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 รวมไปถึงการนำฉนวนมาป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อไม่ให้โดนความร้อนหรือสะเก็ดไฟ จนอาจเกิดการประทุหรือระเบิดได้ 

8. จัดเก็บสารไวไฟ หรือวัตถุไวไฟแยกออกจากพื้นที่อื่น ๆ 

สารเคมี ก๊าซ หรือของเหลว ที่เป็นวัตถุไวไฟ หรือจัดว่าเป็นสารไวไฟ ควรแยกเก็บไว้ในที่เฉพาะ ซึ่งมีระบบการถ่ายเทอากาศได้ดี ส่วนประกอบรอบด้าน เช่น ผนัง พื้น และเพดานห้องควรทำมาจากวัสดุทนไฟ เพื่อลดความเสี่ยงการเสียหาย ที่อาจเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ควรจัดให้มีที่เก็บไว้เฉพาะ โดยแยกออกจากพื้นที่ทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร และเก็บให้ห่างไกลจากวัสดุติดไฟง่าย เพราะหากเกิดประกายไฟแม้เพียงเล็กน้อย แล้วไปเจอกับวัสดุติดไฟ เช่น กระดาษ โฟม ฯลฯ จะทำให้ไฟลุกลามได้ง่ายขึ้น

9. ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี 

ซึ่งทางกฏหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ระบุให้ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องให้มีการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี และเป็นกฏหมายข้อบังคับที่โรงงานทุกประเภทจะต้องทำตาม เพื่อความปลอดภัย และป้องกันอุบัติภัยที่เกิดจากระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเกิดปัญหาระบบไฟฟ้าลัดวงจรจากโรงงาน มักจะสร้างความเสียหายและกระจายเป็นวงกว้าง จนเกิดการสูญเสียอย่างมหาศาล จึงต้องมีการควบคุมและออกกฏข้อบังคับ เพื่อให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องทั่วกัน 

ข้อดีของการตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปี และการหมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ 

  1. ลดค่าใช้จ่ายและประหยัดพลังงาน เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด เช่น กระแสไฟรั่ว 
  2. ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร 
  3. ลดความเสี่ยงต่อจุดอันตรายที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น ตู้ควบคุมไฟฟ้า MDB ที่จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมไปถึงได้ทำการทดสอบอุปกรณ์สำคัญ ACB ว่าสามารถทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ ตามที่ผู้ผลิตได้ออกแบบตั้งแต่แรก 
  4. ได้วางแผนซ่อมบำรุงได้ก่อนเกิดเหตุไฟฟ้าดับกระทันหัน แบบ break down 

โดยความถึ่การตรวจสอบระบบไฟฟ้า สามารถแยกได้ 3 แบบ ด้วยกัน 

  1. ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำวัน 
  2. ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำเดือน
  3. ตรวนสอบระบบไฟฟ้าประจำปี 

โดยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเบื้องต้นของแนวทางในการป้องกันระบบไฟฟ้าลัดวงจร จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือแม้แต่ส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงงานหยุดชะงัก จนสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการได้ ดังนั้นควรให้ความใส่ใจตั้งแต่เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ได้การรับรองมาตรฐาน อย่าเพียงแค่เห็นแก่ราคาถูก แต่วัสดุไร้ความปลอดภัย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขหลังจากสูญเสีย อย่าต้องให้เกิดอย่างกรณี “วัวหาย ล้อมคอก” เลย