พระศรีวสุนธรา หรือ พระแม่ธรณี หมายถึง เทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ผู้ค้ำจุนโลก โดย แม่พระธรณี มีปรากฏในตำนานพุทธศาสนา พราหมณ์ และ ฮินดู เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน เพราะถือว่า แผ่นดิน คือ จุดกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งปวง แม่พระธรณี เทพแห่งผืนดิน จึงเปรียบพระนางเสมือน มารดา ผู้ค้ำจุนโลก ที่คอยหล่อเลี้ยงทุกสรรพสิ่ง
ในคัมภีร์พระเวทโบราณตำราของคติฮินดู ได้มีการกล่าวถึงพระแม่ธรณีน้อยมาก เพราะทางความเชื่อ พระนางไม่มีอำจนาจเทียบชั้นพระตรีศักดิ แต่มีบทบูชาและสดุดีทูลขอให้พระนางคุ้มครองวิญญาณผู้ตาย ในขณะที่บางตำราได้กล่าวไว้ว่า แม่พระธรณีมีพระฉวีสีดำ แต่ทรงสิริโฉมงดงาม มีรอยยิ้มน้อย ๆ บนพระพักตร์อยู่เสมอ จึงมักถูกโยงว่าพระชายาของเทพองค์ องค์หนึ่งอยู่เสมอ บ้างก็ว่าพระนางเป็นพระชายาของพระวรุณเทพ หรืออาจเป็นพระชายาพระวิษณุ หรือไม่ก็พระศิวะ
แม้จะไม่มีความแน่ชัดว่าพระนางเป็นพระชายาของเทพองค์ใดกันแน่ แต่มีชาวฮินดูไม่น้อยเลยที่ให้ความนับถือพระแม่ธรณีมาก จะกล่าวขอขมาทุกครั้งก่อนที่จะวางเท้าลงบนพื้นดิน หลังจากที่ตื่นนอนในตอนเช้า และเมื่อจะขุดหลุมเพื่อปลูกบ้าน จะมีการบูชาพระแม่ธรณีด้วยเหรียญเงิน ไขมุก พลอยที่ร้อยด้วยด้ายสี และมะพร้าว หรือคนที่เลี้ยงโคนม เมื่อแม่โคมีน้ำนมครั้งแรก จะรีดน้ำนมลงบนพื้นดิน ประมาณ 5 หรือ 7 ครั้ง เพื่อเป็นการถวายบูชาพระแม่ธรณี ส่วนชาวนาในรัฐปัญจาบจะมีประเพณีหยุดทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับพื้นดิน เป็นเวลา 7 วัน เพื่อหยุดการรบกวนพระแม่ธรณี ให้พระนางได้พักผ่อนอย่างสงบนั่นเอง
ในเทวปกรณ์ของอินเดีย กลับกล่าวว่าพระนางเป็นอรูปกะ คือ ไม่มีตัวตน จึงไม่ค่อยมีเทวรูปหรือการสัญลักษณ์อันหมายถึงแม่พระธรณีในอินเดีย แต่กลับมีมากมายในไทย ทั้งรูปภาพวาดบนผนังโบสถ์ วิหาร หรือ เทวรูปพระแม่ธรณีบิดมวยผมที่ท้องสนามหลวง และตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เนื่องจากคนไทยให้ความเคารพนับถือ และมีความเชื่อว่า หากต้องการจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์ใด ให้รดน้ำลงดินโดยตรง เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นพยานและฝากเป็นสื่อกลางแผ่ไปถึงสัตว์นั้น อีกทั้งยังมีประวัติศาสตร์ไทย จารึกไว้ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทก ฝากพระแม่ธรณี ในการประกาศอิสรภาพจากพม่า หลังทรงรบชนะศึก ว่ากันว่า พระนางมีนิสัยชอบปลีกวิเวก อยู่เพียงลำพัง แต่จะปรากฏพระองค์ เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เท่านั้น ดังที่ปรากฏในประวัติพระพุทธศาสนาตอนหนึ่ง จนมีการนำไปจารึกเป็นภาพวาดในตำรา และตามผนังพุทธสถานหลายแห่งในเมืองไทย
บทบาทสำคัญของพระแม่ธรณีในพุทธประวัติ
ได้มีการปรากฏความสำคัญของแม่พระธรณีในพุทธประวัติ เมื่อครั้งก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ ใต้ต้นมหาโพธิ์ พระองค์ทรงประทับนั่งบนหญ้าคาที่ถวายโดยโสตถิยะพราหมณ์ และได้ตั้งปณิธานจักไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งอย่างเด็ดขาดหากยังไม่บรรลุธรรม และเมื่อพระองค์ทรงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต พญามาร นามว่า “วสวัสตี” ได้ยกระดมพลเหล่าเสนามารทั้งหลายมาก่อกวนพระพุทธองค์ เพราะไม่ต้องการให้พระองค์หลุดพ้นจากอำนาจของตน จากการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
พญามารได้ทำการขัดขวางด้วยสารพัดวิธี ทั้งบันดาลให้เกิดพายุ ฝนตกหนัก ยิงศรธนูและอาวุธต่าง ๆ ทำร้ายเจ้าชายสิทธัตถะ แต่อาวุธเหล่านั้นกลับกลายเป็นบุปผา มาลัย บูชาอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อทำทุกวิถีทาง แต่พระพุทธองค์ก็ไม่สะทกสะท้านหวาดเกรง พญามารจึงเปลี่ยนวิธี กล่าวอ้างว่าบัลลังก์ที่พระองค์กำลังประทับอยู่นั้น เป็นบัลลังก์ที่เกิดจากบุญบารมีของพญามารวสวัสตี ไม่ใช่ของสิทธัตถะ โดยให้เหล่ามารที่เป็นพรรคพวกของตนเป็นพยาน
เจ้าชายสิทธัตถะที่กำลังบำเพ็ญเพียรเพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทรงแย้งกลับว่า บัลลังก์ที่พระองค์ทรงประทับอยู่นั้น เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีที่ตนเองได้บำเพ็ญมาทุกภพชาติจนนับประมาณมิได้ และพระองค์มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะประทับ ณ ที่แห่งนี้ แต่พญามารไม่ยอมรับและถามหาพยาน พระสิทธัตถะจึงได้ยื่นพระหัตถ์ขวาแตะที่พื้นดิน และกล่าวให้พระแม่วสุนธรา (ชื่อแม่พระธรณีในขณะนั้น) ทรงเป็นพยาน เมื่อสิ้นสุดคำของพระพุทธองค์ ก็ได้ปรากฏพระศรีวสุนธราขึ้นต่อหน้าพระมหาบุรุษ และได้ประกาศยืนยันแก่พญามาร ถึงการบำเพ็ญบุญของสิทธัตถะที่มีมากมายสุดประมาณ น้ำทักษิโณทกบนผมของพระนางสามารถเป็นพยานได้ว่ามากมายเพียงใด ว่าแล้วพระนางก็ปล่อยมวยผม บีบน้ำที่พระโพธิสัตว์ได้กรวดสะสมไว้นับตั้งแต่อดีตมาทุกภพชาติ สายน้ำหลั่งไหลออกมาเป็นมวลน้ำมหาศาล ไหล่บ่าแรงจนพัดพญามารและเหล่าเสนามารทั้งหลายลอยไปไกลสุดขอบ จนพญามารยอมรับความพ่ายแพ้แบบศิโรราบ และหลังจากที่กำจัดเหล่ามารได้หมดสิ้น พระสิทธัตถะได้ทรงบำเพ็ญเพียร เจริญสมาธิภาวนาจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนั้นเอง (ตรงกับวันวิสาขบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6) ซึ่งพระอิริยาบถของพระพุทธองค์ ที่ทรงชี้พระหัตถ์ขวาแตะที่พระแม่ธรณี เพื่อขอให้เป็นพยานในบุญบารมีของพระองค์ ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ พระพุทธรูปปางชนะมาร หรือ “ปางมารวิชัย” นั่นเอง