สำหรับใครที่ชื่นชอบอาหารสีแดงส้มคล้ายกับกระดองปูสุก ที่ถูกอัดเป็นแท่ง ๆ มีลักษณะคล้ายกับลายของกล้ามเนื้อปู ซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อของ “ปูอัด” แต่เคยสงสัยไหมว่า ที่จริงแล้วปูอัดทำมาจากอะไร หรือทำมาจากเนื้อปูแล้วอัดให้เป็นแท่ง?
ปูอัด เมนูโปรดและเป็นของกินสุดฟินของใครหลาย ๆ คน ที่จริงแล้วไม่ได้ทำมาจากเนื้อปู หรืออวัยวะใด ๆ ของปูเลย แต่ถูกทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบ เนื้อปูอลาสก้า ปูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งที่จริงแล้ว ปูอัดทำมาจากเนื้อซูริมิ (Surimi) เนื้อปลาสีขาวที่มีไขมันต่ำ แล้วแต่งแต้มด้วยกลิ่นของปู ก่อนจะแต่งแต้มสีแดงหรือส้ม เพื่อให้เหมือนกับกระดองปูที่สุกแล้ว เนื่องจากเนื้อปูแท้มีราคาแพงมากนั่นเอง
ทำไมปูอัดทำมาจากปลา
ปูอัดหรือเนื้อปูเทียม (Imitation crab) เริ่มมาจากการที่ชาวประมงในประเทศญี่ปุ่นมักจับได้แต่ปลาตัวเล็กขายไม่ได้ราคา แต่ในเมื่อจับมาได้แล้วก็เลยนำปลาเหล่านั้นมาแล่ แล้วนำไปเข้าเครื่องบด ก่อนจะนำไปปั้น และแต่งกลิ่น แต่งสีเลียนแบบปู กลายเป็นปูเทียมหรือปูอัด และเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 เป็นต้นมา
ปูอัดทำมาจากปลาอะไร
ส่วนประกอบหลักของปูอัด คือ ปลาทะเลเนื้อขาวไขมันต่ำ มีความยืดหยุ่น มีความเหนียวและความละเอียดอยู่ในตัว โดยปลาที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ ปลาอิโตโยริ (ปลาทรายแดง) ปลาตาหวาน ปลาดาบ ปลากะพง ปลาข้างเหลือง ปลาอลาสก้าพอลล็อค (Alaska Plllock) ส่วนผสมที่ใช้ทำปูอัด คือ แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ไข่ขาว น้ำมันถั่วเหลือง เกลือ น้ำตาล ซอร์บิทอล (สารให้ความหวาน) น้ำ โปรตีนจากถั่วเหลือง สารสกัดจากปู กลิ่นปู และ รสปู และอาจมีส่วนผสมอื่น ๆ ที่อาจแตกต่างกันไปตามสูตร
วิธีทำปูอัด
นำปลามาตัดหัว ควักไส้ทิ้ง แล้วนำเข้าเครื่องบีบ เพื่อรีดเอาแต่เนื้อปลา จากนั้นนำเนื้อปลาที่ได้ไปผสมกับแป้ง น้ำตาล เกลือ ผงชูรส ตามด้วยการแต้มกลิ่นปู ก่อนจะนำไปทำให้สุก และเข้าสู่กระบวนการทำให้เนื้อปลาเป็นเส้นเหมือนเนื้อปู แล้วอัดให้เป็นแท่งยาว ๆ ตบท้ายด้วยการแต่งสีให้เหมือนเนื้อและกระดองปูสุก
ปูอัดอันตรายไหม
แม้ว่าปูอัดจะทำมาจากปลาทะเลเนื้อขาว แต่ประเภทอาหารของปูอัด คือ อาหารแปรรูป ที่มักประกอบไปด้วยน้ำตาลและโซเดียมสูง รวมไปถึงสารเติมแต่งอื่น ๆ ทั้งการเติมกลิ่น แต่งสี เพิ่มรสชาติด้วยเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ทำให้ปูอัดมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่ากับเนื้อปูสด
โทษและประโยชน์ในการกินปูอัด
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปูอัดกับปูสด จะพบว่า เนื้อปูสดมีโอเมก้า 3 วิตามิน และแร่ธาตุมากกว่า เช่น วิตามินบี 12 ซีลีเนียม หรือ ซิงก์ ในขณะที่ปูอัดมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่า และสามารถมีน้ำตาลได้สูงถึง 10.6 กรัมเลยทีเดียว เสี่ยงต่อการเพิ่มแคลอรี่ที่เพิ่มน้ำหนักตัว และก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ และ โรคหลอดเลือด เป็นต้น
แต่ถึงอย่างนั้น การบริโภคปูอัดมีประโยชน์เช่นกันนะ เพราะในปูอัดมีซีลีเนียม (Selenium) และ ฟอสฟอรัส (Phosphorus) สูง ซึ่งทั้งสองตัวนี้เป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ควบคุมการทำงานของเอนไซม์และเซลล์ต่าง ๆ สังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นโปรตีนที่ป้องกันโรคมะเร็ง แต่ควรจะกินปูอัดในปริมาณที่เหมาะสม ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์จากแร่ธาตุเหล่านี้ โดยการกินปูอัดในปริมาณ 85 กรัม จะได้รับซีลีเนียมและฟอสฟอรัสในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเล หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของอาหาร ควรอ่านข้อมูลส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดหรือปรึกษาแพทย์ก่อนทานปูอัด เพราะส่วนผสมในปูอัดอาจกระตุ้นอาการป่วยที่มีให้กำเริบได้ และถึงแม้ว่าปูอัดจะทำมาจากเนื้อปลา แต่ต้องไม่ลืมว่าปูอัดเป็นอาหารแปรรูปด้วยเช่นกัน